7/07/2556

ความรู้"รอบโลก"







เกล็ดหิมะเกิดขึ้นได้อย่างไร
หิมะถือว่าเป็นของแข็งชนิดหนึ่ง ที่อยู่ในรูปของน้ำซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบริเวณนั้นเย็นจัด ในโลกของเรานั้นมีพื้นที่เพียง ๑ ใน ๓ เท่านั้นที่มีหิมะตก หิมะเกิดจากไอน้ำในอากาศที่มีความเย็นถึงจุดเยือกแข็ง จับตัวกันเป็นก้อนผลึกมีหกเหลี่ยมแล้วตกลงมายังพื้นโลกส่วนลักษณะของหิมะนั้นมีรูปร่างไม่แน่นอน บางครั้งก็เป็นแท่ง แบนหรือกลม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของไอน้ำ และระดับความชื้นของอุณหภูมิในขณะนั้น





เขตที่มีหิมะปกคลุมตลอดกาลคืออะไร
ในบางส่วนของโลกจะมีพื้นที่ส่วนหนึ่ง ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ตลอดเวลา เช่น ในเขตขั้วโลก บริเวณเกาะกรีนแลนด์ พื้นที่มีหิมะปกคลุมนั้นจะอยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลน้อยกว่า ๒ กิโลเมตร ที่เทือกเขาร๊อกกี้ พื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมอยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๓ กิโลเมตร ที่เทือกเขาแอลป์เป็นพื้นที่ที่มีหิมะปกคลุมตลอดปี อยู่เหนือระดับน้ำทะเล ๒ กิโลเมตร การที่พื้นที่บางแห่งมีหิมะปกคลุมตลอดกาล มีระดับความสูงแตกต่างกันนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความชื้น ระดับของอุณหภูมิ ลม แสงอาทิตย์ ฯลฯ แทบไม่น่าเชื่อว่า บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมี พื้นที่ที่ปกคลุมด้วยหิมะตลอดเวลาด้วยเหมือนกัน คือบริเวณเทือกเขาคิลลิมานจาโรในอาฟริกา



คลื่นมาจากไหน
เมื่อเราโยนก้อนหินลงไปในน้ำเราจะเห็นคลื่นกระจายออกจากจุดที่ก้อนหินตกลงไป เมื่อดูแล้วทำให้เรารู้สีกว่าเหมือนน้ำเคลื่อนที่ไปแต่ความจริงแล้วคลื่นที่เรามองเห็นนั้น เป็นเพียงพลังงานของคลื่นที่เคลื่อนที่ผ่านน้ำไป เป็นเหตุให้น้ำมีลักษณะเป็นคลื่นไปด้วย
ลักษณะของคลื่นนั้น ส่วนที่อยู่บนสุดเราเรียกว่ายอดคลื่นส่วนที่อยู่ระหว่างยอดคลื่น ๒ ยอดเรียกว่าท้องคลื่น คลื่นที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเรียกว่า ขบวนคลื่น คลื่นลูกแรกที่เกิดขึ้นเรียกว่าแนวหน้าคลื่น
สาเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นนั้น โดยเฉพาะในทะเลก็คือ ลม ลมเป็นสาเหตุสำคัญ กล่าวคือเมื่อลมพัดผ่านน้ำแรงดึงดูดของโลกจะดึงดูดน้ำเอาไว้ ทำให้น้ำส่วนที่ถูกลมพัดนูนสูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันเมื่อน้ำถูกแรงดูดของโลกดูดเอาไว้ น้ำจึงหุบลงไปทำให้มีลักษณะเป็นคลื่น ยิ่งถ้าลมแรงมากคลื่นจะใหญ่ตามไปด้วย คลื่นที่มีขนาดใหญ่มากเรียกว่า ซูนามิ คลื่นชนิดนี้จะเกิดขึ้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเล





เครื่องบินบินได้อย่างไร
มนุษย์มีความใฝ่ฝันมานานที่อยากจะบินไปในอากาศได้เหมือนนก กว่ามนุษย์จะสามารถพัฒนาการเรื่องการบินมาถึงยุคปัจจุบันนี้ได้ มนุษย์ได้ผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับการบินมาอย่างโชกโชน ครั้งแรกมนุษย์ทดลองบินโดยใช้บอลลูนต่อมาใช้เครื่องร่อน และมาประสบความสำเร็จครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๓ เมื่อพี่น้องตระกูลไรต์ได้สร้างเครื่องบินขึ้นบินได้สำเร็จ การที่เครื่องบินสามารถบินขึ้นไปในอากาศได้นั้นก็เพราะเกิดแรงยกที่ปีกของเครื่องบิน ปกติที่ปีกของเครื่อบินจะมีรูปร่างแบ่งออกได้ ๒ ส่วน คือ ปีกด้านบนและปีกด้านล่าง ปีกที่อยู่ส่วนบนจะยาวกว่าปีกที่อยู่ด้านล่าง ในขณะที่เครื่องบินขับเคลื่อนแล่นไปข้างหน้านั้น อากาศที่ผ่านปีกเครื่องบินทางด้านปีกล่างจะมากกว่าปีกด้านบน ทำให้เกิดความกดดันของอากาศทางด้านปีกข้างล่างมากและสามารถยกเครื่องบินขึ้นบินได้ในที่สุด






ไจรอสโคปคืออะไร
ไจรอสโคปเป็นเครื่องมือสำหรับวัดการหมุนวนชนิดหนึ่งซึ่งมีแกนล้อที่สามารถหมุนไปมาได้อย่างเป็นอิสระ การหมุนของแกนล้อของไจรอสโคปที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่าความเฉื่อยของไจรอสโคป เครื่องมือชนิดนี้ใช้สำหรับวัดการหมุนของเครื่องการเดินเรือ การบิน ขีปนาวุธต่าง ๆ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจการทำเหมืองแร่และการขุดเจาะต่าง ๆ ได้อีกด้วย






ดาวที่สว่างกว่าดวงอาทิตย์
ไม่น่าเชื่อใช่ไหม ว่ายังมีดาวดวงอื่นที่สว่างกว่าดวงอาทิตย์อีก ดาวดวงนี้มีชื่อว่าเอตาคารินา เป็นดาวฤกษ์ที่มีความสว่างไม่คงที่ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๖ ดาวดวงนี้สว่างวาบขึ้น นักดาราศาสตร์บันทึกความสว่างได้ ๖ ล้านเท่า ของดวงอาทิตย์ นับเป็นดาวที่สว่างที่สุดที่เคยบันทึกมา







ดินสอและเพชร มีอะไรที่เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้วพวกเราทุกคนจะรู้สึกว่า ดินสอกับเพชรนั้นไม่น่ามีอะไรเหมือนกันเลย เพราะทั้งสองสิ่งนี้เมื่อเทียบราคากันแล้วมันแตกต่างกันมาก แต่อันที่จริงแล้วทั้งดินสอและเพชรมีสารเคมีที่เหมือน ๆ กัน สารที่พูดถึงก็คือคาร์บอน แต่ดินสอใช้คาร์บอนผสมกับกราไฟท์ ซึ่งมีลักษณะอ่อน เป็นเงา และมีสีดำ แต่เพชรนั้นเป็นคาร์บอนบริสุทธิ์ที่มีสีอ่อน โปร่งแสง และเป็นสารที่แข็งที่สุด







ตู้เย็นทำงานอย่างไร
ตู้เย็นมีหลักการทำงานง่าย ๆ ว่า ของเหลวจะระเหยกลายเป็นไอได้นั้น จะต้องมีความร้อนจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณรอบของเหลวนั้น ความร้อนรอบบริเวณของเหลวจะถูกนำมาใช้เพื่อทำให้ของเหลวกลายเป็นไอ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิบริเวณของเหลวเย็นตัวลง ด้วยหลักการง่าย ๆ เช่นนี้เองที่นักประดิษฐ์คิดค้นได้นำมาใช้กับการประดิษฐ์ตู้เย็นที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ภายในตู้เย็นจะมีสารประเภทหนึ่ง ที่เรียกกันว่า สารทำความเย็น สารประเภทนี้สามารถเปลี่ยนเป็นก๊าซได้ ณ อุณหภูมิต่ำ และในขณะเดียวกัน มันก็สามารถเปลี่ยนมาเป็นของเหลวได้เมื่อได้รับความกดดันจำนวนหนึ่ง
ดังนั้นจุดเริ่มต้นของตู้เย็นเริ่มต้นเมื่อเครื่องที่ทำให้เกิดความดันดันสารที่ทำความเย็นด้วยแรงกดดันที่สูงและสารนี้จะกลายเป็นของเหลว ของเหลวนี้จะวนไปตามระบบต่าง ๆ ในตู้เย็นจนกระทั่งผ่านเข้าไปในหลอดสูญญากาศ ในหลอดสูญญากาศจะมีความกดดันต่ำของเหลวจึงเดือดและกลายเป็นก๊าซอีก ช่วงที่ของเหลวกลายเป็นก๊าซนี่เอง จะต้องมีการดูดความร้อนบริเวณใกล้เคียงเข้าไป จึงทำให้บริเวณนั้นเย็น และเป็นสาเหตุที่ทำให้ตู้เย็นเย็นด้วย





ถ่านหินเกิดขึ้นได้อย่างไร
เมื่อประมาณ ๓๕๐ ล้านปีมาแล้วเป็นยุคที่เรียกว่ายุคคาร์โบนิเฟอรัส พื้นโลกของเราส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีต้นไม้ต่างๆ มากมายทั่วไป แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปพื้นผิวของโลกนี้ก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง เช่นนี้ต้นไม้ที่ตายไปก็ถูกดิน หิน ทราย หรือตะกอนของสิ่งต่างๆ ทับถมเอาไว้ในที่สุดก็เน่าเปื่อยกลายเป็นน้ำ ฝังเป็นชั้นอยู่ภายใต้พื้นดินเมื่อถูกแรงกดของตะกอนที่มีน้ำหนักมากๆ เข้า จึงทำให้น้ำเหล่านั้นกลายเป็นหินสีดำ ซึ่งรู้จักกันในนามว่าถ่านหิน ประเภทของถ่านหินที่เกิดขึ้นมีหลายชนิด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับน้ำหนักของตะกอนที่ทับถมลงไป เช่น ถ่านหินลิกไนท์เป็นถ่านหินที่มีอายุยังน้อยอยู่ ถ่านหินแอนทราไซด์ เป็นถ่านหินที่มีอายุมากและแข็งแรงมากที่สุด พีท เป็นถ่านหินที่พบบนพื้นผิวโลกที่ขุดลงไปไม่ลึกนัก











ทำไมน้ำแข็งจึงทำให้ท่อประปาแตก
สิ่งของโดยทั่วไปจะหดตัวเมื่อได้รับความเย็น แต่น้ำไม่ได้เป็นเช่นนั้น น้ำจะหดตัวเมื่อได้รับความเย็นจนกระทั่งอุณหภูมิ ๔ องศาเซลเซียส น้ำจะเริ่มขยายตัว และเมื่อกลายเป็นน้ำแข็งที่อุณหภูมิ ๐ องศาเซลเซียส ก็ยิ่งขยายตัว และต้องการพื้นที่มากขึ้น ดังนั้นในฤดูหนาว ในขณะที่น้ำที่อยู่ในท่อกลายเป็นน้ำแข็งจะขยายตัว เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงทำให้ท่อน้ำประปาแตกไปในที่สุด






ทำไมน้ำทะเลจึงเค็ม
หากเราเทน้ำเกลือไว้ในกะละมัง แล้วนำไปผึ่งแดด ๒-๓ วัน น้ำในกะละมังจะระเหยไปเรื่อยๆ น้ำที่เหลือในกะละมังจะเค็มขึ้นทุกทีสุดท้ายจะเหลือเพียงเกลือขาวๆ ให้เราเห็น ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับน้ำทะเลเมื่อสมัยประมาณหนึ่งล้านปีมาแล้วเช่นกัน น้ำทะเลจะระเหยกลายเป็นไออีกส่วนหนึ่งจะถูกลมพัดไปตกบนพื้นโลก เมื่อฝนตกน้ำส่วนหนึ่งจะไหลลงสู่ทะเล และในขณะที่น้ำไหลลงมานั้นก็จะพัดพาเอาเกลือที่อยู่บนหินและดินลงไปสู่ทะเลด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นเวลานับล้านๆ ปี จึงเป็นสาเหตุให้น้ำทะเลเค็ม ในน้ำทะเล ๑ ลิตร จะมีเกลือหนัก ๑๕ กรัม หากเป็นทะเลปิดเช่นทะเลสาบเดดซี จะมีปริมาณของเกลือสูงมาก








ทำไมภูเขาไฟจึงระเบิด
เราทราบแล้วว่าภายในใจกลางของโลกนั้นประกอบด้วยโลหะเหลวซึ่งมีก๊าซปนอยู่ด้วย เมื่อของเหลวเหล่านี้เกิดการเคลื่อนตัวภายใต้เปลือกโลก มันจะพยายามแทรกตัวขึ้นมาบนเปลือกโลก เปลือกโลกส่วนไหนที่มีรอยร้าว โลหะเหลวก้อนมหึมาเหล่านั้นก็จะพุ่งตัวขึ้นมาในอากาศ แล้วตกลงสู่พื้นดิน เราเรียกโลหะเหลวนี้ว่า ลาวา หรือ แมกม่า
การพุ่งขึ้นมาของโลหะเหลวเหล่านั้นทำให้บรรยากาศรอบข้างเคียงกลายเป็นพายุไปด้วย เมื่อลาวาเย็นตัวลงทำให้เกิดการทับถมของลาวา หากบนยอดลาวามีแอ่งบนปล่องภูเขาไฟเรียกว่าคัลเดอรา การระเบิดของภูเขาไฟนั้นมิใช่จะเกิดเฉพาะบนพื้นโลกเท่านั้นใต้ทะเลก็เกิดได้เช่นกัน มีเกาะเป็นจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิคที่เกิดมาจากการระเบิดของภูเขาไฟ







ทำไมเราจึงทาไบคาร์บอเนตเมื่อถูกผึ้งต่อย
ในแมลงบางชนิด เช่น ผึ้ง แตน ต่อ ฯลฯ จะมีอาวุธสำหรับป้องกันตัวเอง เมื่อรู้ว่าตัวของมันจะถูกทำลายหรือถูกศัตรูรุกราน โดยการต่อยแล้วปล่อยกรดลงไปในตัวคนที่มันต่อย จะทำให้รู้สึกเจ็บปวดมากวิธีการแก้ไขก็คือ จะต้องทำให้กรดที่ถูกปล่อยลงไปในร่างกายนั้นเป็นกลางให้ได้ โดยการใช้ด่างทา ด่างที่หาง่ายในบ้านเราก็คือ โซเดียมคาร์บอเนต มันจะช่วยถอนพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรดให้กลายเป็นกลางและจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้บ้าง






ทำไมเหล็กจึงกลายเป็นสนิม
อะไรก็ตามที่ทำด้วยเหล็ก เมื่อไว้ในอากาศชื้น วัสดุเหล่านั้นจะมีสนิมขึ้นมาทันที สนิมแผ่นบาง ๆ ที่เกิดขึ้นที่บริเวณผิวของเหล็กนั้น มันเกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี ระหว่างออกซิเจนกับน้ำ ทำให้เกิดออกไซด์ขึ้นมาเป็นสนิมอย่างที่เราเห็นนั่นแหละ เรามีวิธีไม่ให้เหล็กกลายเป็นสนิมได้โดยการทำให้เหล็กแห้งแล้วชโลมด้วยน้ำมัน หรือใช้เหล็กนั้นชุบกับโลหะชนิดอื่น ๆ เช่น กระป๋องใส่อาหาร ก็ใช้เหล็กชุบกับดีบุก แผ่นเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างก็ชุบสังกะสี เป็นต้น การที่โลหะ ต่าง ๆ กลายเป็นสนิมด้วยปฏิกิริยาทางเคมีนี้เรียกว่า กระบวนการกัดกร่อน




ทำไมอุปกรณ์ที่ทำด้วยยางจึงเด้งได้
เหตุที่วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำด้วยยางเด้งได้เมื่อสัมผัสกับพื้นนั้น เป็นเพราะว่าอุปกรณ์นั้นทำด้วยยาง มีความยืดหยุ่นสูงมากเช่น เมื่อเราเตะลูกฟุตบอลไปกลางสนาม เมื่อลูกฟุตบอลตกลงสู่พื้น บริเวณผิวหน้าของลูกฟุตบอลส่วนที่กระทบพื้นนั้นจะแบนออก แล้วหดกลับมาเหมือนเดิมอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกฟุตบอลเด้งขึ้นจากพื้น ในการเด้งแต่ละครั้งลูกฟุตบอลจะสูญเสียพลังงานไปส่วนหนึ่ง ทำให้การเด้งไม่สูงเท่าที่เราเตะไปครั้งแรก ส่วนก้อนหินเมื่อกระทบกับพื้น จะเด้งขึ้นเพียงเล็กน้อยทั้งนี้เพราะก้อนหินมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าลูกฟุตบอล และการเด้งกลับ แต่ละครั้งเสียพลังงานมากด้วย










เมื่อมีปฏิกิริยาทางเคมีจะมีอะไรเกิดขึ้น
เมื่อสารแต่ละชนิดมีปฏิกิริยาทางเคมีต่อกัน จะทำให้เกิดสารใหม่ขึ้น สารใหม่ที่เกิดขึ้นนี้อาจมีคุณสมบัติแตกต่างจากสารเดิมได้เช่น ทองแดง โดยปกติจะมีสีแดงเข้มและใส เมื่อทำปฏิกิริยาทางเคมีกับก๊าซออกซิเจนซึ่งไม่มีสีทำให้เกิดทองแดงออกไซด์ มีลักษณะเป็นสีเขียวอ่อน หรือเหรียญเงินเมื่อทำปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจน ตอนแรกจะเหลืองและจะดำไปในที่สุด ที่เรา รู้จักกันในนามว่า เงินออกไซด์ปฏิกิริยาทั้งสองตัวนี้เกิดขึ้นเมื่ออะตอมของโลหะได้ผสมกับโมเลกุลของก๊าซออกซิเจน แล้วเกิดเป็นโมเลกุลออกไซด์ขึ้น
เมื่อเกิดปฏิกิริยาทางเคมี จะมีสารผสมที่สำคัญเกิดขึ้น ๓ อย่างคือ กรด ด่าง และเกลือ เมื่อกรดและด่างผสมกันจะทำให้เกิดเกลือและน้ำขึ้นมา ตัวอย่างเช่น เมื่อไฮโดรเจนครอไรท์ ซึ่งเป็นกรดที่อยู่ในกระเพาะของเราผสมกับด่างเช่น โซเดียมไฮดรอกไซด์ จะทำให้เกิดน้ำและโซเดียมครอไรด์ขึ้นมา ซึ่งเรารู้จักกันในนามว่า เกลือนั่นเอง







แมลงเดินบนน้ำได้อย่างไร
พวกเราคงเคยเห็นแมลงบางชนิดที่สามารถวิ่งบนน้ำได้โดยที่มันไม่จมลงในน้ำเลย หลายคนคงสงสัยว่าแมลงเหล่านั้นมันวิ่งบนน้ำได้อย่างไร ที่มันวิ่งบนน้ำได้ก็เพราะว่าแมลงเหล่านั้นตัวมันเล็ก แต่มีขายาว การที่มันมีขายาวนี้เอง จึงมีส่วนช่วยในการแบ่งเบาน้ำหนักตัวของมันไปที่ขาด้วย ดังนั้นเมื่อมันวิ่งไปบนน้ำ ความตึงที่ผิวหน้าของน้ำไม่แตก ทำให้แมลงวิ่งบนพื้นน้ำได้อย่างสบาย






โลหะชนิดไหนหนักที่สุด
สสารประเภทโลหะที่มีอยู่ในโลกมากมายหลายชนิดเช่น แมกนีเซียม อลูมิเนียม สังกะสี ดีบุก ทองแดง นิเกิลและตะกั่ว ในบรรดาโลหะเหล่านี้ แมกนีเซียมเป็นโลหะที่เบาที่สุดและตะกั่วหนักที่สุด ซึ่งหนักกว่าแมกนีเซียมประมาณ ๗ เท่าและหนักกว่าอลูมิเนียม ๔ เท่า แมกนีเซียมนั้นจะพบในน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะอยู่ในรูปของแมกนีเซียมครอไรด์เพราะเหตุที่แมกนีเซียมเบาอยู่แล้วจึงทำให้ไม่แข็งแรง ดังนั้นหากจะมีการนำไปใช้งาน ก็ต้องมีการนำไปผสมกับโลหะอื่นเสียก่อน ส่วนอลูมิเนียมแม้จะมีมากในโลกของเรา แต่ก็ไม่ใช่อลูมิเนียมบริสุทธิ์ เราจะพบอลูมิเนียมเป็นส่วนผสมของโลหะอื่น เช่น บอกไซด์ เป็นต้น อลูมิเนียมจะเบาและแข็งแรง จึงนิยมนำมาเป็นโครงสร้างของใช้มากที่สุดในการทำแบตเตอรี่เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนแร่เหล็กเป็นโลหะที่มีประโยชน์มากที่สุด ในสังคมยุคนี้แต่ละปีแร่เหล็กนับเป็นจำนวนล้านๆ ตันที่ถูกนำมาถลุงเป็นเหล็กกล้าเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้าง






หนึ่งคิวบิทยาวเท่าไร
คิวบิทเป็นหน่วยวัดความยาวในสมัยโบราณ ที่ชาวอียิปต์ใช้วัดความยาวเกี่ยวกับการก่อสร้างปิรามิด ๑ คิวบิทมีความยาวเท่ากับ ๕๓ เซนติเมตร หรือระยะทางตั้งแต่ข้อศอกจนถึงส่วนที่สูงที่สุดของนิ้วกลาง นอกจากนี้ยังมีหน่วยวัดระยะทางอื่นที่น่าสนใจ เช่น น๊อต เป็นหน่วยวัดความเร็วในทะเล (๖๐๘๐ฟุต/ชั่วโมง) หน่วยวัดนี้เกิดจากความบังเอิญของมนุษย์ กล่าวคือ มันเกิดในขณะที่มีการฝึกโยนปมของเชือกลงในทะเลในขณะที่เรือแล่น แล้วก็มีการนับว่าในหนึ่งชั่วโมงนั้นใช้ปมของเชือกเท่าไรและกลายมาเป็นหน่วยวัดที่เป็นน๊อตในที่สุด





อะไรทำให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงได้
ดวงอาทิตย์เป็นกลุ่มก้อนก๊าซที่มีขนาดมหึมาในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ในใจกลางของกลุ่มก้อนก๊าซก้อนนี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ทำให้ก๊าซไนโตรเจนเปลี่ยนไปเป็นก๊าซฮีเลียมในระหว่างที่เกิดปฏิกิริยานี้อยู่ พลังนิวเคลียร์ส่วนหนึ่งก็ถูกปล่อยออกมาซึ่งมีบางส่วนที่มาถึงโลกของเรา ในรูปของแสงและความร้อนเราเรียกว่า แสงอาทิตย์
หากโลกของเราปราศจากแสงอาทิตย์แล้ว สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกนี้ก็ไม่อาจจะมีชีวิตดำรงอยู่ได้ เพราะสิ่งมีชีวิตอยู่ได้โดยอาศัยแสงอาทิตย์ จะเห็นว่ามนุษย์เราใช้พืชและสัตว์เป็นอาหาร ในขณะที่สัตว์กินพืชเป็นอาหารและพืชก็ใช้แสงอาทิตย์มาช่วยในการสังเคราะห์แสงต่ออีกทอดหนึ่งด้วย ดังนั้นจุดเริ่มต้นของชีวิตจึงมาจากแสงอาทิตย์
ความร้อนที่เราได้รับจากเชื้อเพลิงประเภทน้ำมันหรือถ่านหินก็ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มีจุดกำเนิดมาจากแสงอาทิตย์ทั้งสิ้น เพราะถ่านหินก็คือซากของพืชในสมัยก่อนประวัติศาสตร์และน้ำมันก็คือซากของสิ่งมีชีวิตที่หมักหมมกันมานับเป็นล้านๆ ปี นักวิทยาศาสตร์ได้คาดการณ์ว่าอีกประมาณ ๑ ล้านปีข้างหน้า ดวงอาทิตย์จะดับ นั่นก็หมายความว่าอีก ๑ ล้านปีข้างหน้า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อยู่บนโลกย่อมดับสูญไปด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นมนุษย์คงจะต้องคิดค้นหาวิธีการเพิ่อความอยู่รอดของตนต่อไป







อุณหภูมิต่ำสุดของสสารคืออะไร
โดยปกติแล้วการวัดอุณหภูมิของสิ่งของต่าง ๆ เช่นในร่างกายของเรานั้นจะมีหน่วยวัดเป็นองศา เรานิยมใช้ระบบเซลเซียส หรือฟาเรนไฮท์ แต่การวัดอุณหภูมิในงานทางวิทยาศาสตร์นั้นเราใช้ระบบเคลวิน ระบบนี้จะเหมือนกับระบบเซลเซียสกล่าวคือ ใน ๑ องศาในระบบเคลวินจะเท่ากับ ๑ องศาในระบบเซลเซียส แต่ ๐ องศาเซลเซียสจะเท่ากับ ๒๗๓.๑๕ องศาเคลวิน ดังนั้นที่ ๐ องศาเคลวินจึงเท่ากับ -๒๗๓.๑๕ องศาเซลเซียสและนี่คืออุณหภูมิที่ต่ำสุดของสสาร ณ อุณหภูมินี้สสารจะแข็งตัวจนโมเลกุลภายในไม่มีการสั่นสะเทือนใด ๆ อีก แต่ในทางปฏิบัติแล้วเป็นการยากมากที่จะทำให้อุณหภูมิลดลงไปถึง ณ จุดที่ ๐ องศาเคลวิน







                              ที่มา www.bkk1.in.th/Topic.aspx?TopicID=227577

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น